วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

หมู่,หมวด,ผู้กองมาจากไหน (๒๑ มกราคม ๒๕๕๔)

สวัสดีทุกท่าน พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้วันแรม ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๐ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๔ ปี วันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ซึ่งก็ใกล้จะถึงปลายเดือนแรกของปีแล้ว เร็วจริงๆ ครับวันเวลาที่ผ่านพ้นไป เดี๋ยววัน เดี๋ยวเดือน เดี๋ยวปี มิน่าล่ะ บางคนถึงได้บ่นๆ ว่าทำไม้ทำไมตัวเองหนุ่ม(เหลือน้อย)ลงเร็วจริงๆ ก็เพราะเวลามันผ่านไปรวดเร็วแบบนี้ฉะนั้นแล้วมีอะไรที่จะให้ทำก็จงทำกันซะไวๆ อย่าได้เนิ่นช้า วันเวลาไม่คอยใคร


วันนี้ผมขอนำเรื่องเกี่ยวกับตำรวจมาเล่ามาบอกให้ได้รับทราบกันอีกเรื่อง ๑ เนื่องจากมีหลายๆ คนสอบถามผมไปนั่นก็คือคำว่า "หมู่ หมวด ผู้กอง" มาจากไหน ทำไมต้องเรียกแบบนั้น ผมตอบข้อสงสัยนี้ไปบ้างแล้วแต่คิดว่าน่าจะนำมาเขียนไว้ในอีกบันทึกหนึ่งจะดีกว่าน่าสนใจดีเหมือนกันนะผมว่า

แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะครับว่าคำว่า "หมู่ หมวด ผู้กอง" นี่เป็นภาษาปากหรือคำที่ใช้พูดกันทั่วๆ ไปไม่ใช่คำที่กำหนดไว้ในระเบียบ โดยตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งตำรวจนั้นเราได้กำหนดตำแหน่งต่างๆ ไว้ว่าตำรวจชั้นยศไหนมีตำแหน่งอะไร หน้าที่มีแบบไหนซึ่งก็เหมือนกับปัจจุบันนี้แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไป บ้างตามยุคตามสมัย ซึ่งสมัยก่อนตำรวจเรากำหนดตำแหน่งที่น่าสนใจไว้ดังนี้ (ผมจะพูดเฉพาะแต่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับคำสามคำที่ผมจั่วหัวเรื่องไว้นะครับ)

๑. สิบตำรวจตรี,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจเอก ตำแหน่ง "ผู้บังคับหมู่"



๒. ร้อยตำรวจตรี,ร้อยตำรวจโท ตำแหน่ง "ผู้บังคับหมวด"
๓. ร้อยตำรวจโท,ร้อยตำรวจเอก ตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ซึ่งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ได้นั้นจะต้องมียศร้อยตำรวจโทเสียก่อนแล้วต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งถึงจะได้ยศร้อยตำรวจเอกซึ่งใช้เวลาไม่นาน



ผมสอบถามผู้รู้รวมถึงอ่านข้อคิดข้อเขียนของหลายๆ ท่านได้กรุณาให้ความกระจ่างว่านี่แหละคือที่มาของคำว่า "หมู่ หมวด ผู้กอง" นั่นเอง และเรื่องนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ อีกสักหน่อยดังนี้ครับคือจากชื่อตำแหน่งที่พูดถึงนี้หากไม่เรียกชื่อของตำรวจคนนั้นก็มักจะเรียกชื่อตำแหน่งแทน แต่คนไทยเรามักไม่ค่อยชอบพูดอะไรยาวๆ เลยกร่อนหรือลดจำนวนคำที่จะพูดลงมา เช่นแทนที่จะพูดคำว่า "ผู้บังคับหมู่" ก็จะพูดว่า "ผู้หมู่" หรือ "หมู่" ในส่วนของตำแหน่ง "ผู้บังคับหมวด" ซึ่งมียศร้อยตำรวจตรีและร้อยตำรวจโทเท่านั้น (ในสมัยก่อนนะครับ) เวลาพูดก็มักจะเรียกว่า "ผู้บังคับหมวด" แล้วกร่อนหรือลดคำลงไปเป็น "ผู้หมวด" หรือ "หมวด" และก็เช่นเดียวกันตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ซึ่งแต่งตั้งจากตำรวจที่มียศร้อยตำรวจโทหลังจากได้แต่งตั้งแล้วก็จะมียศร้อยตำรวจเอกผู้คนในสมัยนั้นก็จะเรียก "ผู้บังคับกอง" แล้วกร่อนหรือลดคำลงไปเป็น "ผู้กอง" (แปลกนะไม่ยักเรียกเหลือคำเดียวว่า "กอง" เหมือนคำว่า "หมวด") การเรียกนี้ใช้กันมาเป็นเวลานานเวลาพูดก็จะพูดติดปากมาจนถึงปัจจุบันที่แม้จะเปลี่ยนแปลงยศและตำแหน่งเป็นอย่างอื่นแล้วก็ตามก็ยังใช้คำเหล่านี้ติดปากกันอยู่ไม่เว้นแม้ในวงการตำรวจด้วยกัน

สำหรับตำรวจยศอื่นๆ เช่น จ่าสิบตำรวจ,ดาบตำรวจ,พันตำรวจตรีขึ้นไปมักจะเรียกตามตำแหน่ง เช่น สารวัตร,รองผู้กำกับ,ผู้บัญชาการ เป็นต้น




รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ



สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น