ตอนเป็นเด็กๆ ผมคิดว่าพี่น้องหลายคนคงจะเคยรับหนังสือจากรุ่นพี่มาเรียนต่อกันซึ่งผิดกับสมัยนี้ที่หนังสือใครหนังสือมัน รับต่อจากกันไม่ได้เพราะเขาให้เด็กเขียนอะไรลงในหนังสือนั้นเลยแบบนี้รุ่นน้องก็ไม่รู้จะรับช่วงได้ยังไง สมัยโน้นในหนังสือเรียนน่ะแทบจะไม่มีใครขีดเขียนอะไรลงไปหรอกเพราะจะต้องเอาให้รุ่นน้องๆ เรียนต่ออีก จะขีดเขียนก็แค่ในกระดาษหรือสมุด แล้วทีนี้เมื่อหนังสือเรียนจะต้องเอาให้รุ่นน้องเรียนเมื่อขึ้นชั้นใหม่รุ่นพี่ก็จะต้องดูแลทะนุถนอมให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการอย่างหนึ่งก็คือการ “ห่อปกหนังสือ” นั่นเอง
การห่อปกหรือหุ้มปกหนังสือจะผิดแผกแตกต่างจากสมัยนี้พอสมควร สมัยนี้ส่วนใหญ่มักใช้ปกสำเร็จรูปจำพวกพลาสติก แต่สมัยก่อนส่วนใหญ่จะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ หรือถุงปูนซิเมนต์ด้านในที่มันเหนียวๆ และลื่นห่อกัน สำหรับกาวก็จะใช้แป้งเปียกหรือไม่ก็ข้าวสุกนั่นแหละได้ผลชะงัดนัก ห่อเสร็จแล้วหาของหนักๆ ทับไว้ด้านบนสักพักหนึ่งรอให้มันเรียบถึงนำไปใช้ ไปเรียน รวมถึงรอให้รุ่นน้องๆ รับช่วงในปีต่อไป
เฮ้อ นึกถึงเรื่องนี้แล้วก็อดที่จะเสียดายภาพหรือสิ่งดีๆ สมัยตอนเป็นเด็กไม่ได้ หลายอย่างเด็กสมัยนี้ไม่รู้จักรวมถึงไม่ยอมรับรู้กันแล้ว อีกไม่นานคงเหลือไว้แต่ความทรงจำประมาณว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วยังมี..." อย่างคำที่มักใช้เริ่มในการเล่านิทานให้เด็กฟังนั่นแล
(สมัยเรียน ม.ศ.๑-๓ ที่โรงเรียนแกลง "วิทยสถาวร" นั้นผมรับหนังสือเรียนต่อจากรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ "เหียตุ่ม" หรือสมคิด อาจเอื้อ ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์วิทยาลัยวิทยาลัยเทคนิคระยองซึ่งหนังสือทุกเล่มนั้น "เหียตุ่ม" ดูแลรักษาเป็นอย่างดีและห่อปกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์จนดูเหมือนใหม่เลยทีเดียว)
อ้ะ พี่น่องบ้านเราคนไหนส้ะหมัยตอนเด็กๆ เคยห่อปกหรือรั่บหนังสือต่อจากรุ่นพี่มั่งย่กมือขึ้นหน่อยฮิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น