วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒๔) (๒๐ กันยายน ๒๕๕๔)


* คดีหมายเลขแดงที่ อ.176/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.61/2549

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านาย ล. เจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกรรโชกทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาทเพื่อให้การช่วยเหลือทางคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดี ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามแบบ สว. 2 ตลอดจนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ทั้งให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน คณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนพยานฝ่ายผู้ฟ้องคดีและฝ่ายกล่าวหาและจัดทำรายงานการสอบสวนเห็นว่าผู้ฟ้องคดีน่าจะกระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริงอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรลงโทษปลดออก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณาอนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยคณะที่ 1 ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์และการกระทำเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้รับทราบตามมติของอนุกรรมการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เห็นได้ว่ากระบวนการสอบสวนทางวินัยผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ส่วนในคดีอาญาและการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีเพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมายังมีข้อพิรุธควรแก่การสงสัยว่าจำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ได้กรรโชกทรัพย์เอาเงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 40,000 บาทหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้นก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาทางอาญาซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งลงโทษทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจดำเนินการทางวินัยและผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคณะกรรมการสอบสวนได้สอบสวนปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องมีเหตุน่าเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์เรียกและรับเงินจากนาย ล. เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีช่วยเหลือเรื่องคดีจริง ส่วนคำให้การของผู้ฟ้องคดีว่าในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนไม่ได้ออกไปที่ใดเลยนั้นขัดกับคำให้การของพันตำรวจโท ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับนาย ล. และไม่มีเรื่องโกรธเคืองผู้ฟ้องคดี จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีการเรียกและรับเงินจากนาย ล. จริง เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบเช่นกัน

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.170/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.212/2549

ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจถูกร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์เข้าไปในร้านค้าของนาง ม. แล้วหยิบบุหรี่และสุราไปโดยไม่แจ้งให้เจ้าของร้านทราบและไม่ชำระค่าสินค้าแล้วหลบหนีไป ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งที่ 396/2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยผู้ฟ้องคดีได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545คณะกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามบันทึกลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งผู้ฟ้องคดีให้การยืนยันตามคำให้การเดิมและให้การเพิ่มเติมว่าไม่อาจติดตามตัวพยานที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างได้และไม่ขออ้างพยานคนอื่นอีก ปรากฏตามบันทึกฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเห็นได้ว่าคณะกรรมการฯ ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยได้ให้ผู้ฟ้องคดีทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและให้โอกาสผู้ฟ้องคดีโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานแล้ว ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าพยานที่คณะกรรมการรับฟังมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีนั้นก็ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีแสดงให้เห็นว่าพยานมีเหตุโกรธเคืองเรื่องอะไรด้วยเหตุใด จึงไม่มีเหตุผลน่ารับฟัง

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เห็นว่าพยานรายนาง ม. ผู้กล่าวหาและสามีของนาง ม. ต่างให้การสอดคล้องกันว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หยิบฉวยสินค้าจากร้านของตนหลายครั้งและไม่ยอมชำระเงินเลยแม้แต่ครั้งเดียว รวมมูลค่าประมาณ 9,000 บาท ทั้งนี้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นญาติกับผู้ฟ้องคดีก็ให้การสอดคล้องกันว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ตามข้อร้องเรียนหลายครั้งและเมื่อได้รับแจ้งจากนาง ม.จึงทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี นอกจากนี้ตามคำให้การของผู้ฟ้องคดีและฝ่ายผู้กล่าวหาต่างให้การรับกันว่าภายหลังมีการร้องเรียนผู้ฟ้องคดีได้ให้บุตรนำเงินไปชำระค่าสินค้าที่ค้างชำระ แต่นาง ม. ไม่รับเนื่องจากได้แจ้งความและร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับ ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงของผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ตามข้อร้องเรียน กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ไปที่ร้านค้าของนาง ม. และได้หยิบเอาเหล้าและบุหรี่ไปโดยมิได้มีการชำระเงินค่าสินค้าในวันนั้นจริง และพฤติกรรมของผู้ฟ้องคดีซึ่งน่าเชื่อตามคำให้การของพยานว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หยิบสินค้าในร้านของผู้กล่าวหาไปบ่อยครั้งโดยไม่ชำระราคาสินค้าจนเป็นเหตุให้ผู้กล่าวหาเกิดความคับข้องใจ จึงขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านและได้ทำหนังสือให้ผู้กล่าวหาร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี สำหรับพฤติการณ์ข่มขู่นาง ม.หลังจากได้ร้องเรียนผู้ฟ้องคดีนั้นนาง ม. และผู้ใหญ่บ้านต่างให้การสอดคล้องกันในเรื่องดังกล่าวและปรากฏในเอกสารสำเนาบันทึกการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามรายงานประจำวันของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2545 จึงเชื่อได้ว่ามีการข่มขู่นาง ม.จริง พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นพฤติการณ์ที่เสื่อมเสียไม่รักษาชื่อเสียงของตนและไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งลงโทษวินัยผู้ฟ้องคดีอย่างร้ายแรงตามคำสั่งที่ 539/2546 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2546 ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและมีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

* คดีหมายเลขแดงที่ อ.155/2552 คดีหมายเลขดำที่ อ.391/2549

การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าต้องการระงับเหตุวิวาทระหว่างสิบตำรวจเอก ส. กับร้อยตำรวจตรี น. จึงได้ดึงอาวุธปืนของบุคคลทั้งสองมาเก็บไว้เพื่อตรวจสอบนั้นเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่มีน้ำหนักและไม่น่าเชื่อถือ เพราะจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องตรวจสอบอาวุธปืนทั้งสองกระบอก หากผู้ฟ้องคดีต้องการมิให้เหตุวิวาทลุกลามบานปลาย ผู้ฟ้องคดีก็เพียงแต่นำอาวุธปืนทั้งสองกระบอกไปเก็บไว้หรือส่งมอบให้ผู้บังคับบัญชาเก็บรักษาไว้ก็เป็นการเพียงพอแก่การระงับเหตุแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีทำให้ปืนลั่นขึ้นถึง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย และไม่ว่าก่อนเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีจะได้ดื่มสุราจนมึนเมาหรือไม่ พฤติการณ์ที่ทำปืนลั่น บนสถานีตำรวจถือได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือยิงปืนโดยความคึกคะนองเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในกรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานการลงทัณฑ์ (โทษ) ไว้ไม่ต่ำกว่าปลดออก การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) มีมติว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้เพิ่มโทษผู้ฟ้องคดีเป็นไล่ออกจากราชการ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2) ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้นจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าร้อยตำรวจตรี น. ได้ร้องขอความช่วยเหลือ เพราะเวลานั้นสิบตำรวจเอก ส. ได้ชักอาวุธปืน .357 ออกจากซองปืน ผู้ฟ้องคดีจึงจำเป็น ต้องยึดอาวุธปืนของคู่กรณีทั้ง 2 กระบอกไปทดสอบเพื่อระงับเหตุไม่ให้เสียเลือดเนื้อ ชีวิต และทรัพย์สินของทางราชการ กรณีเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น และมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องห้ามอุทธรณ์ตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าปืนที่ลั่นทั้ง 2 กระบอกเป็นของคู่กรณี ดังนั้นระบบและข้อแตกต่างตลอดจนความเคยชินในการใช้จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่อาวุธปืนจะลั่นขึ้นเนื่องจากอยู่ในสภาวะกดดัน และในการรับฟังพยานทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 14 ปาก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับฟังเพียง 4 ปาก ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี อีกทั้งมีการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เนื่องจากพยานหลักฐานที่สำคัญได้ถูกเผาทำลายไปแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำพยานหลักฐานเข้าแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่ถูกปฏิเสธ เห็นได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบแบบแผนของวินัยตำรวจโดยไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดีนั้น ประเด็นอุทธรณ์ดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

* คำสั่งที่ ร.739/2552 คำร้องที่ ร.304/2552

ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) คืนเงินเดือนที่ตกค้างระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนแต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ดำเนินการ จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งลงวันที่ 14 ตุลาคม 2546 ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน ย่อมส่งผลให้เกิดสิทธิกับผู้ฟ้องคดีที่จะได้รับเงินเดือนในระหว่างที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยผู้ฟ้องคดีลงชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 และเมื่อนับแต่วันดังกล่าวผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับเงินเดือนตามสิทธิที่ควรได้ ผู้ฟ้องคดีจึงชอบที่จะนำคดีมาฟ้องภายในระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมายื่นฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว

คำสั่งทางปกครองมีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่เฉพาะตัวผู้รับคำสั่งทางปกครองและมีผลยันต่อผู้รับคำสั่งตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งคำสั่งเป็นต้นไป การอุทธรณ์คำสั่งจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับคำสั่งดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่ 14 ตุลาคม 2546 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนทั้งที่คำสั่งดังกล่าวได้ระบุถึงสิทธิและขั้นตอนการอุทธรณ์ไว้ชัดแจ้งแล้ว แต่สิทธิดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีมีตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรับทราบคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกับพวกออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน แม้ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 ถึงผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินเดือนระหว่างให้ออกจากราชการไว้ก่อนของผู้ฟ้องคดีและหนังสือลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 รับคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีแล้วก็ตาม คำสั่งทั้งสองเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นใหม่ มิได้มีผลให้ระยะเวลาการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

* คำสั่งที่ ร.736/2552 คำร้องที่ ร.676/2552

ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ซึ่งมีมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีและรายงานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายกรัฐมนตรี) เพื่อพิจารณาสั่งการ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แม้กรณีไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ขอความเป็นธรรมกรณีถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยขอให้ลดโทษเป็นให้ออกจากราชการต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีย่อมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้วอย่างช้าภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เมื่อศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อคำพิพากษาคดีนี้ผลของคำพิพากษาหากจะก่อให้เกิดประโยชน์ก็คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีเท่านั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนรวม และไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นใดที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีได้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ประกอบกับข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ส่วนข้อที่อุทธรณ์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้นำการกระทำความผิดในครั้งเดิมที่เคยพิจารณาแล้วมาพิจารณาโทษซ้ำอีกนั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น กรณีศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบดังกล่าว

* คำสั่งที่ ร.709/2552 คำร้องที่ ร.430/2552

ผู้ถูกฟ้องคดี (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ออกคำสั่งที่ 85/2552 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 สั่งให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เอกสารหลักฐานสำคัญทางการเงินสูญหายเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีเสียหาย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายของผู้ถูกฟ้องคดีไว้โดยเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ออกคำสั่งตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 44 ประกอบกับมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 และยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลารวมแล้วไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กล่าวคือต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดในวันที่ 14 มิถุนายน 2552 เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวกรณีจึงเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ครบขั้นตอนตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อาจใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ดตั้งศาลปกครองฯ

* คำสั่งที่ ร.546/2552 คำร้องที่ ร.385/2552

เมื่อพิจารณาคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้และคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในคดีหมายเลขดำที่ 1681/2551 ของศาลปกครองชั้นต้นโดยตลอดแล้วเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีฟ้องคดีนี้โดยมีประเด็นโต้แย้งอย่างเดียวกันคือการออกข้อสอบ การเฉลยข้อสอบและการตรวจให้คะแนนข้อสอบรายวิชาพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ของผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับแม้จะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่โดยความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีประสงค์ให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าทดสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งเรียงตามลำดับคะแนนในการรับสมัครและคัดเลือกข้าราชการตำรวจผู้มีวุฒิปริญญาตรีเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ. 2550 เฉพาะส่วนของผู้ฟ้องคดีและดำเนินการแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรเช่นเดียวกัน ทั้งสองคดีจึงเป็นคดีเรื่องเดียวกันเป็นการฟ้องคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหารวมทั้งคำขอบังคับเป็นอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล เมื่อคดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 1681/2551 ของศาลปกครองชั้นต้นเป็นคดีเรื่องเดียวกันและเมื่อคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอีกจึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 1681/2551 ของศาลปกครองชั้นต้น เป็นการอันต้องห้าม ตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น