วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วันนี้วันพระ (๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔)

การให้อภัย

ความโกรธเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ยิ่งโกรธนาน โกรธไม่เลิก มันเป็นตัวทำลายการมีชีวิตอยู่ของเรา มันทำให้ชีวิตของเราไม่สมบูรณ์ เพราะทำให้สุขภาพจิตไม่ดี เราต้องฝึกให้อภัย อภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น





การอภัยให้ตัวเองไม่ใช่เพื่อจะทำอย่างที่ผิดมาแล้วอีก แต่เป็นการตั้งต้นใหม่ที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ชีวิตพบความดีงามชื่นใจกับวิถีใหม่ๆ คนเราย่อมทำผิดพลาดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อผิดพลาดไปแล้ว จะต้องทำผิดเช่นนั้นเรื่อยไป หรืออยู่กับการรับโทษทางใจเช่นนั้นเรื่อยไป เรายุติมันด้วยการให้อภัยและเริ่มต้นวิถีใหม่ในความดีงาม เรามีสิทธิ์ที่จะมีความสุขบนวันเวลาใหม่ๆ กับสิ่งดีงามใหม่ๆ ที่เราดำเนิน


พระพุทธเจ้าสอนว่า

จิตที่เต็มไปด้วยธรรมะเป็นจิตที่มีความสร้างสรรค์มากเพราะไม่มีอะไรบกพร่อง พร้อมที่จะช่วยคนอื่นได้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนเขาจะรักหรือไม่รักเรื่องของ เขาแต่เราจะให้

ชยสาโร ภิกขุ

ผู้ใดทำบาปไว้แล้ว ละได้ด้วยการทำดี ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง เหมือนพระจันทร์ที่พ้นจากเมฆฉะนั้น







พระท่านมักยกตัวอย่างองคุลิมาลว่าฆ่าคนมา ๙๙๙ คน ยังเป็นพระอรหันต์ได้ เราเองได้ทำบาปมากเท่าท่านหรือจึงอภัยไม่ได้ หากแต่ได้ท่านองคุลิมาลมาเป็นกำลังใจแล้ว ก็ควรเร่งปฏิบัติธรรมตามท่านต่างหากจึงจะสมควร แม้เราจะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่เราก็ยังเดินตามรอยพระอรหันต์ ย่อมเป็นสิ่งดีกับชีวิตเราอย่างแน่นอน

การอภัยให้ผู้อื่น นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเราโกรธใคร สังเกตมั้ยว่าเขาไม่ได้รู้เรื่องด้วย ใจเราเองต่างหากที่ถูกไฟโกรธเร่าร้อนเผาผลาญ ทำไมไม่รักใจเราเอง

แจ๊ค แคนฟิลด์ นักสร้างกำลังใจผู้เขียนงานขายดีไปทั่วโลก ได้พูดไว้ว่า

การไม่ให้อภัย คือ การที่คุณดื่มยาพิษ และหวังจะให้ผู้อื่นตาย

เป็นประโยคที่ฉันเห็นว่าให้ภาพของการไม่ให้อภัยได้ชัดเจนที่สุดเลย มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การให้อภัยเป็นสิ่งดีกับหัวใจแน่ๆ ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีการอย่างใดก็ตามเมื่ออภัยไปแล้ว ชีวิตจะเหมือนรุ่งอรุณ แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นย่อมเจ็บร้าว ทรมานแต่เราจะจมอยู่ในความมืดนั้นไปอีกนานเท่าใดและเพื่ออะไร

หญิงสาวคนหนึ่งมีชีวิตตกต่ำอย่างที่สุด จนวันหนึ่งเธอกำลังทรุดลงกับพื้นห้องน้ำ ขณะที่กำลังจะฆ่าตัวตาย และนาทีนั้นเธอก็เกิดแสงสว่างขึ้นในใจ เลิกฆ่าตัวตายและเดินทางออกไปทำสิ่งที่เธอต้องการจะทำหลายอย่าง จนเขียนหนังสือออกมาขายดิบขายดี และเป็นกำลังใจแก่ผู้อ่านที่ท้อแท้มากมาย ฉุดให้ผู้อ่านได้พบสิ่งดีๆ ที่ตัวเองต้องการจะทำมากกว่าจะก่นแต่ความเศร้าหมองของชีวิต เธอได้กล่าวว่า การมีรอยแตก ทำให้แสงส่องเข้ามาได้

บางทีเราน่าจะนำมาใช้กับเรื่องของการให้อภัยได้ เมื่อหัวใจของเราเจ็บปวดจากการกระทำของคนอื่น เราจะยึดเหนี่ยวฉุดรั้งความเจ็บปวดไว้ในหัวใจทำไมหรือ ปล่อยให้แสงสว่างแห่งการให้อภัยเข้ามาโอบอุ้มดวงใจของเราดีกว่า เราเสียหายนักหรือถ้าจะไม่ได้โกรธเขา เขาจะล่องลอยไปถึงไหนหรือถ้าเราจะไม่ได้โกรธเขา

ท่านดาไลลามะแห่งทิเบต เขียนไว้ในหนังสือ เบิกบานในชีวิตและตายอย่างสันติว่า คนที่มาทำให้เราโกรธนั้น เขาเป็นอาจารย์สอนความอดทนให้เรา ซึ่งความอดทนนี้คือธรรมะข้อแรกที่ผู้ปฏิบัติพึงฝึกฝน เมื่อฝึกฝนได้แล้วย่อมเป็นกุศลแก่เรา แต่เราเองยังส่งอาจารย์ของเราไปลงนรกเสียอีก เพราะเขาได้ทำกรรมของเขา คือ มาทำเรื่องให้เราโกรธ ดังนั้น เราไม่ควรจะโกรธเขา แต่ควรจะขอบคุณเขาด้วย

ฉันพบว่าการให้อภัยเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยจิตใจอย่างวิเศษจริงๆ มีความรู้สึกได้ถึงสัมผัสแห่งสันติในใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เปี่ยมล้นและสุขเย็นยิ่งนัก ขอคุณจงให้อภัยเถิด เพื่อเราจะได้มีสันติในใจร่วมกัน

จาก ทำดีดอทเนต

ที่มา : http://bit.ly/kR3y6w

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น