วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สายสอบสวนตำรวจได้เฮ ศาลปกครองพิพากษาเร่งพิจารณาตำแหน่ง (๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔)


ตำรวจพนักงานสอบสวนเฮ หลังศาลปกครองพิพากษา ผบ.ตร.-ก.ตร.-สตช. ละเลยพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติดองเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชานาน 7 ปี สั่งให้เร่งปฏิบัติภายใน 90 วัน

ที่ศาลปกครองเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ก.ค. ศาลปกครองกลาง โดยนายศรศักดิ์ นิยมธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.นางเลิ้ง ฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวน พร้อมพวกนายตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนรวม 223 ราย ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร., คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ต้องออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน, ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาล่าช้าเกินสมควร ทำให้ผู้ฟ้องซึ่งคดีซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนขาดความเจริญก้าวหน้า ขาดขวัญกำลังใจ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ สตช., นายกรัฐมนตรี, ผบ.ตร., ก.ตร., ก.ต.ช. ให้ดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ โดยความเห็นชอบกระทรวงการคลัง ให้แก่พนักงานสอบสวน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณา เลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2547

ทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวนและระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เป็นการดำเนินหน้าที่ของ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร.ที่จะต้องเร่งรัดออกระเบียบดังกล่าวให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสมควรเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนมีความเจริญก้าว หน้าในหน้าที่ราชการและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้พนักงานสอบสวนที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดและผ่านการ ประเมินแล้วได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แต่ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร.มิได้เร่งรัดดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนล่วงเลยมาเป็นเวลา มากกว่า 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ จึงเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าเกินควร สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร. จึงต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด ไม่อาจยกปัญหาต่างๆมาอ้างเพื่อเลื่อนการดำเนินการออกไปโดยไม่กำหนดเวลาได้อีกต่อไป

ศาลจึงพิพากษาให้ สตช.และ ผบ.ตร. เสนอระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวนและระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ต่อ ก.ตร.ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดและให้ ก.ตร.ดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจาก สตช.และ ผบ.ตร. ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีและ ก.ต.ช. ให้ยกฟ้อง เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ได้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนทั้ง 223 รายเดือดร้อนและให้ยกคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร. ออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า ก.ตร.ได้ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน พ.ศ.2554 บังคับใช้แล้ว

ภายหลังคณะตุลาการศาลปกครองอ่านคำพิพากษา พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.นางเลิ้ง ฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวนกล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ศาลปกครองให้ความเป็นธรรมเพราะพนักงานงานสอบสวนต่อสู้เรื่องนี้มานาน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาขณะนั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จนเป็นเหตุให้ทุกวันนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายใด อยากมาปฏิบัติหน้าที่ในสายงานสอบสวน เนื่องจากเป็นงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขาดความเจริญก้าวหน้า ขวัญกำลังใจ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่า ทาง สตช.จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ เพราะมีเวลาในการยื่นอุทธรณ์อีก 30 วัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฺไทยรัฐฉบับประจำวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น