วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การเอาตัวรอดของพระเอกจอแก้วในโลกของตำรวจ : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗)

 “การป้องกันเป็นเพียงความเพ้อฝัน มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้พวกนี้ มันเลวเกินจะเยียวยา ต้องจับมันไปขัง จะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านนายตำรวจมือปราบถกเถียงกับดิฉัน สะท้อนให้เห็นว่าในประสบการณ์ของตำรวจนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในด้านการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิดนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

โลกของตำรวจคุ้นชินกับการกระทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกของเหล่าบรรดาอาชญากรทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ กลุ่มคนเดิมๆ สืบทอดถักทอสายใยของเครือข่ายอาชญากรรมที่นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนและพัฒนากลยุทธ์การกระทำผิดกฎหมายที่ซับซ้อนแนบเนียนมากยิ่งขึ้น

พวกตำรวจกับพวกโจรมันก็พวกเดียวกันนั่นแหละชายวัยกลางคนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจพูดขึ้นโดยไม่มีเสียงคัดค้าน ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากบรรดาตำรวจในที่นั้น มองเห็นว่าการอธิบายที่มาที่ไปของลักษณะงานตำรวจที่ล่อแหลมต่อการรับรู้ที่บิดเบือนของคนนอกวงการเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ยุ่งยากเกินกว่าที่จะเข้าใจ

หากแต่คนใกล้ชิดคลุกคลีในวงการตำรวจอย่างลึกซึ้งจะมีความรู้และเข้าใจว่า บ่อยครั้งที่ผู้กระทำผิดพยายามเสนอตัวเข้ามาอยู่ในโลกของตำรวจ พอๆ กับที่ตำรวจเองมีความจำเป็นและพยายามที่จะเอาตัวเข้าไปอยู่ในโลกของผู้กระทำผิดเช่นเดียวกัน โลกที่ผู้คนต่างพากันสวมหน้ากากแสดงละครต่อกันเพื่อให้ตนเอง บรรลุเป้า

สำหรับดิฉัน หน้ากากที่ตำรวจสวมนั้นมีหลายชั้น เบื้องหลังหน้ากากอาจเป็นโลกที่สดใสงดงาม ทำงานด้วยอุดมคติมุ่งหวังพิทักษ์สันติราษฎร์ ถึงแม้ว่าฉากหน้าอาจจำเป็นต้องแสดงความสัมพันธ์ที่โอนอ่อนผ่อนตาม โดยหวังว่าผลที่ตามมาคืองานใหญ่ รายใหญ่ หรือ ตัวใหญ่

กว่าจะถึงตัวใหญ่ ตำรวจต้องหักเหลี่ยม แลกคม ต่องาน ด้วยความอดทน ระมัดระวัง รอบคอบ แนบเนียน เร็วและเงียบ

คิดเสมอว่าทำยังไงก็ได้อย่าให้มันแตก อย่าให้สะเทือน ถ้าสะเทือนก็จบนายตำรวจสอนดิฉัน นับเป็นบทเรียนอีกหนึ่งบทที่ทำให้รู้ว่าความฉลาดทางปัญญานั้นจะต้องควบคู่ไปกับความฉลาดทางอารมณ์ด้วย...กว่างานจะบรรลุเป้าตามอุดมคติไม่ง่ายเลย บทเรียนบทนี้สอนให้ดิฉันเชื่อมั่นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นอย่างยิ่งต้องปฏิรูปหน่วยงานต่างๆ ด้านการศึกษาอบรมตำรวจให้สามารถตอบสนองต่อการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ให้ได้ มิใช่ปล่อยให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงานต้องแสวงหาความรู้หรือปรับตัวไปตามยถากรรมอย่างที่ทำมา มิเช่นนั้นแล้วความเป็นตำรวจมืออาชีพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

คืนหนึ่งเราซุ่มอยู่ในมุมมืดกลางป่าหญ้ารอดักรถเป้าหมาย แต่ละคนอยู่ในจุดที่กำหนดไว้ตามแผน นายตำรวจหัวหน้าทีมวางสายโทรศัพท์และหันมาพูดกับดิฉันด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า นายโทรมาบอกว่าเอาแค่นี้ เขาจะแถลงข่าวแล้วน่าแปลก ทำไมพวกเรารวมทั้งดิฉันด้วยจึงไม่รู้สึกดีใจ ทั้งๆ ที่การแถลงข่าวหมายถึงการปิดงาน น่าเสียดายตามมาถึงขนาดนี้ทุกคนคิดเช่นนี้และไม่มีใครในทีมปฏิบัติงานใหญ่ครั้งนั้นเข้าร่วมพิธีกรรมแถลงข่าว

พิธีกรรมแถลงข่าวในวงการตำรวจนั้น หากอุปมาอุปไมยแล้วไม่แตกต่างจากการแสดงละคร ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการตำรวจไทย

ผู้สวมบทผู้ร้ายบอกกับผู้ชมว่า ตนเองเป็นผู้ร้ายในวันนั้น วันที่ละครกำลังถ่ายทอดออกอากาศแพร่ภาพสู่ผู้ชม แต่ผู้ชมหารู้ไม่ว่า เมื่อละครจบในวันหน้าผู้ร้ายอาจเปลี่ยนใจกลับคำบอกว่า ผมไม่ใช่ผู้ร้าย เหล่าพระเอกในวันนั้นใส่ร้ายป้ายสี พระเอกในวันนั้นกลับกลายเป็นผู้ร้าย ผู้ใส่ร้ายป้ายสี ยัดเยียดข้อหา สร้างหลักฐานเท็จ อีกทั้งพระเอกที่ประชาชนและนายระดับสูงรับชมผ่านจอแก้วอยู่นั้นก็ไม่ใช่พระเอกตัวจริง เพราะไม่ใช่ผู้ที่ไปตามจับผู้ร้ายมา เพียงแต่ทำหน้าที่สวมบทใส่หน้ากากพระเอก โดยเอางานที่ลูกน้องทำมารีบเสนอหน้าจอทีวี ธรรมชาติของงานตำรวจมันก็อย่างนี้แหละ คนทำงานแถลงข่าวไม่ได้ ขืนแถลงเปิดตัวมากๆ ก็เป็นเป้าให้โจรมันรู้สิ

ธรรมชาติของงานเอื้อต่อการก่อเกิดระบบอุปถัมภ์ภายในองค์กร ลูกน้องทำงานให้นายได้หน้าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนคุ้นชิน นายที่ดีเมื่อได้ดีก็จะอุปถัมภ์ลูกน้องสายตัวเองให้ได้ดีไปด้วย เรียกว่าได้ดีกันถ้วนหน้า บางคนอาจนิยามความหมายว่า นี่คือระบบอุปถัมภ์ แต่บางคนอาจเรียกว่า การทำงานเป็นทีมเมื่อได้รางวัลก็ควรได้ยกทีม แต่บ่อยครั้งที่มีแต่เพียงนายที่ได้ดี

"การเอาตัวให้รอด" กลายเป็นอีกวัฒนธรรมการทำงานอีกประการหนึ่งในโลกของตำรวจ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติงานตำรวจนั้นกับดักที่เหล่าบรรดาโจรขุดไว้มีมากมาย ดังนั้นอุดมคติตำรวจที่ว่า "กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับตำรวจทุกนาย

อ้าว ! แต่เวลาพลาด ทำไมลูกน้องโดนแต่นายรอด?” ดิฉันตั้งคำถาม นายตำรวจใหญ่หัวเราะหึๆ ตอบว่า วันนี้เธอสอบไม่ผ่าน เธอลืมสัจธรรมในโลกของตำรวจข้อที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นายมันก็เคยโดนมาก่อน ตอนนั้นน่ะ นายของนายก็รอดเหมือนกันนั่นแหละ

วัฒนธรรมองค์กรบางอย่างรื้อออกบ้างก็น่าจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและมีความสุขในการทำงานเพิ่มมากขึ้นมิใช่หรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น