วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

ความจริงเบื้องหลังกระสุน? : โลกตำรวจ โดย ปนัดดา ชำนาญสุข (๑ มกราคม ๒๕๕๗)

ความจริงคือสิ่งที่ผู้คนในสังคมร่วมสร้างขึ้น ไม่มีความจริงใดที่เป็นความจริงแท้ ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นนั้นแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของกาลเวลา อารมณ์ ความรู้และความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนที่แปรเปลี่ยนไปด้วย ลักษณะเช่นที่กล่าวมานี้ เรียกว่า หลักของการสร้างความจริงทางสังคม (reality is social construct) ศัตรูคู่อาฆาตของตำรวจกลับกลายเป็นผู้ตีแผ่ความจริงในการปฏิบัติหน้าที่ที่น่ารันทดในวันนั้นที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ปั๊มหัวใจตำรวจที่ถูกยิงอยู่นั้น ยังมีการยิงเข้ามาไม่หยุดยั้ง จนตำรวจด้วยกันถึงกับต้องร้องตะโกนให้เอาโล่มาบังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เล่าเหตุการณ์ในวันที่ก้าวเข้าไปสู่วิถีความจริง และมองความจริงอย่างที่มันเป็นโดยปล่อยวางอคติที่มีอยู่เดิมลงก่อน

ตำรวจน่ะ แค่มันเห็นประชาชนเจ็บ มันก็ใจเสียแล้วเสียงของนายตำรวจใหญ่พูดถึงวิถีตำรวจในวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องการปะทะกันระหว่างตำรวจและฝูงชนในทุกยุคสมัยที่ผ่านมา

ในขณะที่ตำรวจทำหน้าที่เป็นตัวกันชน เพื่อพยายามที่จะรักษาระดับของความรุนแรงในสังคมให้อยู่ในระดับที่สังคมสามารถเคลื่อนไปได้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดที่แตกต่างกันของกลุ่มคนต่างขั้วไว้ให้ได้มากที่สุด ผ่านวิถีการทำงานระหว่างพี่-น้อง หรือนาย-ลูกน้องด้วยใช้ใจและศรัทธา "อดทน อดกลั้นให้มากที่สุด นายทุกระดับอยู่ใกล้ชิดผู้ใต้บังคับบัญชานี่คือคำสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดทน อดกลั้น อดทน อดกลั้น อดทน อดกลั้นๆๆๆๆๆ สำนึกที่ตอกย้ำ "คน" ที่สวมชุดควบคุมฝูงชนเหม็นๆ พวกเขาต้องวิ่งขอยืมโล่ข้ามจังหวัด รวมถึงกระบองที่โทรมจนหมดสภาพที่จะเป็นอาวุธของข้าราชการตำรวจ...คนที่ทำหน้าที่เช่นนี้ในสถานการณ์เช่นนี้และปรากฏผลตามที่เห็นอยู่ในสังคมขณะนี้...ยุติธรรมแล้วหรือ??

"คน" เหล่านี้เมื่อถึงช่วงเวลาได้พักกลับต้องไปทำงานในหน้าที่หลักของเขาแทน ตัวอย่างในยามนี้คือ ตำรวจทุกสถานีตำรวจจะต้องทำการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุจราจรอย่างเคร่งครัดและเข้มแข็ง ต้องรายงานอุบัติเหตุทันที และรายงานสถิติการเกิดอุบัติเหตุก่อนเที่ยงคืนทุกวัน เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่นำเสนอ(ตำรวจคือผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างหนักอยู่เบื้องหลัง...ผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง แต่น้อยคนที่จะได้ทราบความจริงนี้ เพราะตำรวจแท้ไม่ชอบโชว์และโอ้อวด)

"ตาย ๒ ศพ...เสียดายทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้" พ.ต.อ.จรัญฌิ์ เริงธรรม รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดน่าน นายตำรวจที่เปลี่ยนเลน เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน ที่แต่เดิมมุ่งมั่นทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มแข็งตามบทของตำรวจที่ได้รับการปลูกฝังเรียนรู้มา และเคยมองว่า งานจราจรซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของตำรวจก็เป็นเพียงงานจราจร...อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางถนน กลับมามองบทบาทของตำรวจจราจรในมุมมองใหม่ เมื่อรุ่นพี่ (พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์) และรุ่นน้อง (พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์) ผู้เป็นนายเล่าให้ฟังถึงความจำเป็นในการปกป้องดูแลรักษาชีวิตของคนไทยไม่ให้ตายจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาเพียงชั่วครู่ แต่ด้วยหัวใจของความเป็นตำรวจ จิตสำนึก จิตวิญญาณของความเป็นตำรวจที่เห็นเรื่องการคุ้มครองไม่ให้คนที่ไม่ได้กระทำผิดต้องเป็นผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียทรัพย์สิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสูญเสียชีวิตด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ พ.ต.อ.จรัญฌิ์ เริงธรรม มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างแรงกล้า เข้มแข็งตลอดระยะเวลาของการทำงานนับตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานจราจรของจังหวัดน่าน มิใช่ขยันเพียงชั่วครู่ชั่วยามในห้วงเทศกาลที่ประกาศว่าเป็นห้วงวันอันตรายแต่เพียงเท่านั้น ไม่แตกต่างจาก รองผู้บังคับการตำรวจพระนครศรีอยุธยา นครปฐม ภูเก็ต พัทลุง และรองผู้บังคับการตำรวจนครราชสีมา ที่รับผิดชอบงานจราจร

ในห้วงระยะเวลาเริ่มแรกของการปฏิบัติงาน นายตำรวจใหญ่ได้รับการต่อต้านจากผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยข้อหา "ตั้งแต่นายมา...พวกผมงานหนักมาก...ผมมีงานหลายหน้า ทุกอย่างสำคัญ ทุกอย่างเร่งไปหมดแต่ต่อมาลูกน้องเริ่มรู้ใจนาย "นายมุ่งมั่นมากครับ นายอยู่เคียงข้างพวกผม นายพยายาม นายสู้ผมก็สู้นี่คือคำพูดของลูกน้อง ขอบคุณพี่ๆ มากครับ” "ขอบใจมากน้อง” "ช่วยกันนะ ช่วยกันทำบุญช่วยชีวิตคน”...นี่คือตัวอย่างคำพูดของนายกับลูกน้องในโลกของตำรวจที่ถูกเชื่อมด้วยศรัทธาเป็นตัวผลักที่มีพลังในการทำงานของตำรวจ แต่ถึงจะศรัทธานายอย่างไร ก็อยากจะพูดแทนไพร่พลตำรวจชั้นผู้น้อยไปถึงนายและประชาชนในสังคมว่า ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนเหล่านั้น พวกเขาคือมนุษย์ปุถุชน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะได้รับการฝึกฝนให้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่มีความอดทน อดกลั้นเป็นเลิศ แต่ท่านต้องไม่ลืมว่า มนุษย์ก็คือมนุษย์ ยังไม่สายเกินไปที่จะมองตำรวจผู้น้อยเหล่านี้ด้วยสายตาที่เป็นธรรม ถึงแม้ไม่มีดอกไม้สวยๆ มอบให้ ขอเพียงอย่าผลักไสก็เพียงพอ

โปรดพิจารณาความจริงชุดที่ว่า...ตำรวจคือกลุ่มบุคคลที่มีจิตใจอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ไม่เลือดเย็นที่จะใช้อาวุธในการประหัตประหารทำร้ายใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิดอย่างแน่นอน!! แม้แต่การทำวิสามัญฯ แต่ละครั้งยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตำรวจจะทำได้ และไม่มีตำรวจคนใดอยากจะทำ ถ้าไม่อยู่ในภาวะจำเป็นจริงๆ ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งที่แม้แต่นักวิชาการเองยังรู้สึกอึดอัดกับความยุ่งยากและซับซ้อนของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ดูเหมือนจะรักษาสิทธิผู้กระทำผิดมากกว่าผู้เสียหายก็ตาม การผลักไส ยัดเยียดความชั่วร้ายที่เกินจริงด้วยอคติอันอาจเกิดจากการรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านนั้น มิใช่หนทางที่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยเลย!!

ในองค์กรตำรวจมีทั้งตำรวจดีและตำรวจเลว เช่นเดียวกับในสังคมทุกสังคม มาร่วมกันสร้างขวัญและกำลังใจให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจที่ดีกันเถอะ!!

ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20140101/175929.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น