วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เมื่อตำรวจหลงผิด? : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๙ มกราคม ๒๕๕๗)

อำนาจที่มากเกินไปจนทำให้เกิดความลำพองใจ ฮึกเหิมไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอำนาจมีอิทธิพลต่อการกด บังคับ ควบคุมเป้าหมาย ดังนั้น เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลถูกกดบังคับ ควบคุมให้อยู่ภายใต้อำนาจย่อมเกิดอาการแข็งขืน ต่อต้านต่ออำนาจและผู้ที่ใช้อำนาจกระทำต่อตนเองเป็นธรรมดา ถึงแม้ผู้ใช้อำนาจจะอ้างว่าอำนาจนั้นเป็นอำนาจที่ชอบธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตามประเพณี หรืออำนาจตามกฎหมาย เด็กมีปัญหา(กระทำรุนแรงต่อคนอื่น หนีเรียน ต่อต้านสังคม) เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรง นี่คือข้อสรุปของนักวิชาการด้านครอบครัวและพัฒนาการ

พนักงานประท้วงเพราะฝ่ายบุคคลออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป ขาดอิสระในการทำงาน ทำให้เครียด ไม่พึงพอใจ ไม่มีความสุขในการทำงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ผลงานตกต่ำ นี่คือตัวอย่างข้อสรุปของนักวิชาการด้านการบริหารงานบุคลากรใช้อำนาจที่มากเกินไปทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่อำนาจห่างเหินและรุนแรงจนอาจถึงขั้นเกลียดชังต่อกัน (ตำรวจกับประชาชนส่วนหนึ่งก็คงจะอยู่ในภาวะเช่นนี้) ในขณะที่การใช้อำนาจที่น้อยเกินไปทำให้เกิดภาวะไร้ระเบียบ ปั่นป่วน โกลาหล นึกจะจอดขวางระหว่างช่องทางเดินรถก็จอด ไม่สนใจว่ารถคันอื่นที่วิ่งตามมาจะเป็นอย่างไร ไฟแดงก็ไม่สนใจ ไม่หยุด ขับรถแซงซ้ายแซงขวาผู้โดยสารพูดถึงวิถีของการขับรถของกลุ่มผู้ขับขี่รถประจำทางสาธารณะสายหนึ่งที่คนในสังคมกรุงเทพมหานครรู้กันเป็นอย่างดีว่า มีพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยงและละเมิดกฎหมาย โดยไม่หวั่นเกรงต่อการใช้อำนาจในการบังคับ ควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ...ทำไมพวกเขาไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจ?

เมื่อคนในสังคมเห็นว่าพฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมเข้าสู่ภาวะไร้ระเบียบก็จะร้องเรียกหาการใช้อำนาจมาควบคุมเพื่อให้สังคมกลับเข้ามาอยู่ในภาวะปกติดังเช่น "เด็กแว้นเต็มถนนทำไมตำรวจไม่จับ?”

ดังนั้น การใช้อำนาจที่พอเหมาะกับสถานการณ์และบริบทจึงจะทำให้คนในสังคมผาสุก

นอกจากนี้ ผู้ใช้อำนาจยังต้องพิจารณาถึงโอกาสหรือวัฒนธรรมที่ผ่านมาในการยอมรับหรือสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจแต่ละรูปแบบด้วยก่อนที่จะใช้ดุลพินิจตัดสินใจว่าจะใช้อำนาจที่มีความเข้มข้นระดับไหน

ปวดท้อง หมอบอกว่าต้องผ่าตัดก็ผ่า เราอยากหาย เราก็ต้องผ่าคำพูดของคนไข้ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะการยอมจำนนที่จะได้รับความเจ็บปวดจากการผ่าตัดด้วยความเชื่อมั่นว่าแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่าและแพทย์มีความมุ่งมั่นมีเจตนาที่ดีในการช่วยรักษาความเจ็บป่วย ช่วยรักษาชีวิตของตนได้

ด้วยความเชื่อ ความศรัทธาเช่นนี้ ทำให้บุคคลสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจทางการแพทย์ กินยาตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารตามแพทย์สั่ง ออกกำลังกายตามแพทย์สั่ง เป็นต้น มีผู้คนในสังคมจำนวนไม่มากนักที่ตั้งคำถามต่ออำนาจทางการแพทย์ที่เข้ามากดบังคับว่ามีความชอบธรรมหรือไม่?

การใช้อำนาจของตำรวจแตกต่างอย่างไรกับการใช้อำนาจทางการแพทย์ ในเมื่อตำรวจก็มีเป้าหมายในการใช้อำนาจเพื่อรักษาชีวิตของบุคคลในสังคมด้วยเช่นกัน จะแตกต่างกันก็เพียงว่าเป็นการรักษาชีวิตจากภัยอาชญากรรม ไม่ใช่ภัยจากเชื้อโรคเท่านั้น และหากพิจารณาความยุ่งยาก ซับซ้อน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ด้วยแล้วนั้นอาจจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการรักษาชีวิตของผู้คนในสังคมมีความยุ่งยากและมีแรงกดดันมากกว่าเสียด้วยซ้ำ? แต่เราเกลียดตำรวจ ในขณะที่เราเคารพและศรัทธาบุคลากรทางการแพทย์!!!

การใช้อำนาจของตำรวจแตกต่างอย่างไรกับการใช้อำนาจทางการแพทย์? และทำไมเราถึงเกลียดตำรวจ ในขณะที่เราเคารพและศรัทธาบุคลากรทางการแพทย์!!!

การจะตอบคำถามนี้ได้ต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่มาของคนที่เป็นตำรวจเปรียบเทียบกับคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์...จะพบว่า ระดับสติปัญญา ภูมิหลังที่มาไม่แตกต่างกันมากนัก ย้อนมองดูระบบการศึกษา คุณภาพของบุคลากรที่ทำหน้าที่ขัดเกลาทางปัญญา ขัดเกลาทางสังคม พบว่า เส้นทางของคนที่จะมาเป็นอาจารย์แพทย์กับเส้นทางสู่การเป็นอาจารย์ตำรวจมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน... ไม่มีอาจารย์แพทย์คนไหนถูกเตะมาให้เป็นอาจารย์แพทย์และ "ไม่มีสถาบันทางการแพทย์แห่งใดได้รับการเรียกขานเปรียบเทียบว่าเป็นกรุ (ที่ใช้สำหรับเก็บพวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม) ไม่มีใครคิดว่าการเป็นอาจารย์แพทย์เป็นการถูกดอง (ไม่ให้เติบโตก้าวหน้า)และเมื่อย้อนมองดูระบบการบริหารจัดการและความมั่นคงในการทำงานยิ่งพบว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว!!

สุดท้ายเมื่อถามถึงปัญหาสุขภาพจิตพบว่าตำรวจเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต นั่นหมายความว่าคนในสังคมไทยจำต้องยอมตกอยู่ภายใต้การปกป้องชีวิตและทรัพย์สินจากกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต??

หากพิจารณาเห็นความสำคัญในบทบาทหน้าที่และปัญหาอุปสรรคในการทำงานของตำรวจแล้วนั้น การย่ำยี เหยียดหยาม ดูแคลน ที่กระทำต่อตำรวจดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมขณะนี้นั้น จะกลายเป็นการผลักไสให้ตำรวจไปอยู่ฝ่ายโจรหรือไม่? และหากตำรวจหลงผิดคิดว่าหากได้อำนาจเพิ่มขึ้นจะทำให้สามารถควบคุมการกระทำต่างๆได้มากขึ้น...อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย? แต่ที่แน่ๆ...ไม่มีประชาชนคนไหนพอใจกับการใช้อำนาจที่แข็งตัว รุนแรง และมากเกินไปของตำรวจ ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกว่าตำรวจสุดจะทนแล้วก็ตาม!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น