วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ตู้แดง (๓๐ มกราคม ๒๕๕๗)

เชื่อว่าพี่น้องหลายๆ ท่านคงจะเคยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจของพักต่างๆ ที่เวลาออกตรวจแล้วจะไปเซ็นชื่อและเวลาที่จุดตรวจซึ่งโรงพักกำหนดไว้โดยจุดตรวจนั้นๆ จะมีกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่งสีแดงๆ และหยุดประจำจุดนั้นสักพักก่อนจะออกตรวจต่อไป คิดว่าหลายท่านอาจจะสงสัยว่ากล่องแดงๆ อย่างที่ว่านี้มันคืออะไร วันนี้ผมมีคำตอบมาเฉลยให้ฟังครับ โดยเรื่องราวนี้ผมเคยบันทึกไว้ในบล็อกของผมนี้นี่แหละและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องที่ต้องการทราบอยู่บ้างจึงขอนำมาบันทึกไว้อีกครั้งหนึ่งดังรายละเอียดต่อไปนี้ (เรื่องราวที่จะนำมาเล่าให้ฟังนี้ผมเขียนไว้เมื่อครั้งสมัยดำรงตำแหน่ง สวป.สภ.พาน จ.เชียงราย)



พี่น้องอันเป็นที่รักทุกท่านครับ กรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานสายตรวจทุกคนทุกผลัดจะต้องเข้มงวดกวดขันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อความอุ่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดหรือสถานที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือเสี่ยงต่อการกระทำผิดของคนร้าย โดยหลักปฏิบัตินั้นสถานที่สำคัญๆ หรือมีคนพลุกพล่านสถานีตำรวจทุกแห่งจะกำหนดจุดสำคัญๆ ไว้ให้เจ้าหน้าที่สายตรวจตระเวนออกตรวจและลงชื่อพร้อมวันเวลาที่ตรวจในสมุดที่มีอยู่ ณ จุดนั้นๆ โดยติดตั้งกล่องสี่เหลี่ยมที่ภายในบรรจุสมุดตรวจไว้ซึ่งเราเรียกกันติดปากว่าตู้แดง



ตู้แดงนี้มีลักษณะคล้ายกับตู้จดหมายทั่วๆ ไปมักจะทาหรือพ่นด้วยสีแดงและติดตั้งไว้ตามสถานที่สำคัญๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจและลงลายชื่อการตรวจตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดซึ่งระเบียบตำรวจเรากำหนดไว้ว่าในแต่ละเขตตรวจจะต้องติดตั้งตู้แดงไว้ไม่น้อยกว่า ๑๒ จุด การตรวจของเจ้าหน้าที่แต่ละผลัดซึ่งมีเวลาปฏิบัติหน้าที่ ๘ ชั่วโมงจะต้องเซ็นหรือลงชื่อพร้อมเวลาในสมุดประจำตู้แดงทุกแห่งในเขตรับผิดชอบ ๔ ครั้้งทำให้ในแต่ละผลัดเจ้าหน้าที่จะต้องตระเวนหมุนเวียนตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าเป็นการบังคับการตรวจไปในตัวทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลาอันเป็นการป้องกันหรือตัดโอกาสของคนร้ายในการกระทำผิดไปได้มากเลยทีเดียว



ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจต่างๆ ได้ดำเนินการตามระเบียบนี้โดยจะติดตั้งตู้แดงไว้ในจุดหรือสถานที่ที่กำหนดไว้และจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเป็นผู้รับผิดชอบ โดยในแต่ละผลัดเจ้าหน้าที่จะต้องออกตรวจตราดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนรวมถึงเซ็นชื่อและเวลาที่ตรวจตู้แดงในเขตรับผิดชอบของตนเองผลัดละ ๔ ครั้งหมุึนเวียนกันไปจนครบทุกจุดเช่นนี้ตลอดเรื่อยมา



แต่ละเขตตรวจจะติดตั้งตู้แดงไว้หลายๆ จุดตามสภาพของพื้นที่นั้นโดยจัดทำแผนผังและจุดที่ตั้งไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสายตรวจ และทุกๆ ๓ เดือนจะพิจารณาสับเปลี่ยนจุดติดตั้งตู้แดงใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเหมาะสมและดูแลพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของผู้บังคับบัญชาตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปถึงผู้กำกับการก็จะต้องตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่สายตรวจของเราปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบอย่างเคร่งครัดหรือถูกต้องหรือไม่อีกด้วย



หลักการพิจารณาติดตั้งตู้แดงนั้นตามคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.๒๕๔๓) กำหนดไว้ดังนี้
๑. สถานที่ติดตั้งตู้แดง ให้พิจารณาจากองค์ประกอบดังนี้
๑) ที่ที่มีคดีเกิดขึ้นสูง
๒) บ้านบุคคลสำคัญ
๓) ที่ชุมชน
๔) เส้นทางโจร
๕) ที่เปลี่ยว
๖) ย่านที่พักอาศัยที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น
๗) สถานที่ที่ล่อแหลม่อการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น สถานีรถไฟ โรงไฟฟ้า สถาบันการเงิน,ธนาคาร,ร้านค้าทอง เป็นต้น



๒. การติดตั้งตู้แดง
๑) แต่ละเขตตรวจให้ติดตั้งตู้แดงตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่และความเหมาะสมของสถานที่ที่จำเป็นในการควบคุมอาชญากรรม ทั้งนี้ให้คำนึงถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติและกำลังเจ้าหน้าที่ แต่อย่างน้อยต้องติดตั้ง ๑๒ ตู้ต่อหนึ่งเขตตรวจ
๒) การติดตั้งตู้แดงควรติดตั้งให้เรียบร้อยดูสวยงามและสะดวกในการตรวจ
๓) ตู้แดงต้องเขียนว่า "จุดตรวจที่…..เขตตรวจที่……..สน./สภ……หมายเลขโทรศัพท์………."
๔) ในรอบ ๓ เดือนควรพิจารณาเปลี่ยนจุดติดตั้งตู้แดงตามสถานภาพอาชญากรรมหรือตามความเหมาะสม



ครับ นี่ก็คือเรื่องราวของตู้แดงที่ผมนำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น