วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ท่าทีของตำรวจกับสถานะของนายกรัฐมนตรี : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๔ เมษายน ๒๕๕๗)

ความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น จนไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบทางสังคมกลายเป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่ผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันได้รับรู้และมีประสบการณ์ตรงกับตนเอง เพียงแต่อาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ปรากฏการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกวงการ โดยมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายนั้น ทำให้ในบางครั้งผู้ที่ปฏิเสธการกระทำที่เข้าข่ายการฉ้อราษฎร์หรือการบังหลวงต้องกลับกลายเป็น "คนแปลก" หรือกลายเป็น "แกะดำ" ของกลุ่มคนในสังคมนั้นๆ ด้วยเหตุที่การกระทำตามวิถีคอร์รัปชั่นได้ถูกปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางต่อเนื่องจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คุ้นเคยและคุ้นชิน

ในโลกของทุนนิยมนั้น การสะสมทุนสามารถสร้างพลังอำนาจ ในขณะที่อำนาจก็ทำให้เกิดโอกาสที่จะสะสมทุนเพิ่มขึ้นเพื่อต่อยอดและเสริมสร้างความเข้มแข็งของพลังอำนาจให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อทั้งเงินและอำนาจตกอยู่ในมือของผู้ใด/กลุ่มใด หากผู้นั้น/กลุ่มนั้นเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีสำนึกที่ดีต่อสังคมเห็นแก่ประโยชน์และความผาสุกของส่วนรวม ก็จะทำให้สังคมสงบสุขร่มเย็น แต่ถ้าเงินและอำนาจตกอยู่ในมือของผู้ใด/กลุ่มใดที่ไร้คุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องเฉพาะกลุ่มตนแล้วนั้น ก็จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหงสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมนั้น

ดั่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่ว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" จะเห็นได้ว่า หากคนมีอำนาจเป็นคนไม่ดีจะทำให้สังคมวุ่นวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอำนาจโดยชอบธรรมในการปกครองด้วยแล้วยิ่งสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายแก่สังคมทบทวี

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ท่ามกลางความเจริญบนกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกรากนี้ ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตนได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือการคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของคนในสังคม ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและรูปแบบของการก่ออาชญากรรม ดังตัวอย่างของการฆ่าพ่อแม่พี่น้องของบุคคลภายในครอบครัวสายเลือดเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สมบัตินั้น ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้เพียงแค่ความไม่อบอุ่นภายในครอบครัวแต่เพียงเท่านั้น หากแต่มีความจำเป็นต้องมองให้ลึกซึ้งกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงการให้คุณค่า ความหมายของสังคมเกี่ยวกับความดีงาม สิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ...หรือว่าสังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่การให้คุณค่าและความหมายว่า "เงินคืออำนาจและความสุข" โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามว่าที่มาของเงินและอำนาจคืออะไร? ใครทำให้เรามีเงินมากได้คนนั้นคือคนดี คนเก่ง ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ?โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าเขามีคุณธรรมแค่ไหน? อย่างไร?

เมื่อคุณค่าเชิงศีลธรรมเริ่มจางหายไปจากสังคม และมีผลต่อการควบคุมกำกับพฤติกรรมของคนในสังคมน้อยลงแล้วนั้น อำนาจของกฎหมายจะต้องมีความเข้มแข็งอย่างยิ่งเพื่อทำหน้าที่ในการรักษาสมดุลของการกระทำที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขไว้ได้ หากแต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในสังคมปัจจุบันนี้แม้แต่อำนาจทางกฎหมายก็สมควรต้องถูกตั้งคำถามถึงการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม?

กระบวนการยุติธรรมไทยในบริบททางสังคมแบบทุนนิยมและอำนาจนิยมอย่างในปัจจุบันนี้ สามารถยืนยันหลักความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมได้จริงหรือไม่? หรือว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น นอกเหนือจากคำกล่าวที่ว่า "ผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดความจริงนั้น ยังอาจกล่าวได้อีกว่าผู้มีอำนาจ (และทุน) เป็นผู้กำหนดว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่า ความจริง ความถูก หรือความผิดที่ผู้มีอำนาจบอกนั้นอาจไม่ใช่ความจริง ความถูก ความผิด ที่ระบุอยู่ในตัวบทกฎหมายก็ตาม"?

ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ภาวะงุนงง สับสนในเรื่องความจริง ความถูก ความผิดและบริบทแห่งการแย่งชิงอำนาจนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เหล่าบรรดาตำรวจซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญกลุ่มหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมและมีภารกิจหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมจำเป็นต้องครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง รอบคอบ รอบด้านและแยบยล แต่ทว่าเร่งด่วนที่สุด เพราะมีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมไทยขณะนี้คือประเด็นการบริหารงานภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีตามอำนาจการบริหารงานตำรวจที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

ในเมื่อตำรวจคือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น หากเกิดภาวะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจำเป็นต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาการ ในขณะที่มีการเสนอผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งสองประเด็นเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางกฎหมายทั้งสิ้น

ตำรวจจะตัดสินใจอย่างไร? ตำรวจจะปฏิบัติงานภายใต้อำนาจการบังคับบัญชาในลักษณะเช่นไร? เพื่ออะไร? และเพื่อใคร? โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าจับตามองดุลพินิจของผู้นำตำรวจเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถนำพาองค์กรที่ทำหน้าที่อันทรงเกียรติในฐานะต้นธารของกระบวนการยุติธรรมได้สมศักดิ์ศรีเพียงใด

เป็นไปได้หรือไม่ว่าสถานการณ์เช่นนี้คือ บริบทแห่งการทดสอบว่า หากองค์กรตำรวจมีสถานะเฉกเช่นองค์กรอิสระจะทำให้ตำรวจทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรีของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่สามารถสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงมากเสียยิ่งกว่าการจำต้องขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) ในยุคที่ทั่วโลกกำลังตั้งคำถามกับความเสื่อมของระบบการเมืองไทยในวันนี้ !!


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น